>>>Lampang Soccer : ความเคลื่อนไหววงการฟุตบอลลำปาง<<< จุดเริ่มต้นของชุมชนฟุตบอลลำปาง ข่าวสารในแวดวง ทางฝันสู่ไทยพรีเมียร์ลีก ติดตามได้ที่นี่ +++ รักลำปาง...ดูบอลลำปาง : สานฝันสู่ไทยพรีเมียร์ลีก +++>>>แชมป์ล่าสุดในลำปาง<<< ฟุตซอล เทศบาลนครลำปาง ประจำปี 2552 ทีมชนะเลิศ รุ่นอาุยุไม่เกิน 18 ปี ได้แก่ ทีมมะพร้าวหวาน B นักกีฬาดีเด่นคือ นายภานุพงศ์ กิวงค์พรม รุ่นประชาชนชายทั่วไป (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ได้แก่ ทีมพรานเหนือ รุ่นประชาชนชายทั่วไป ได้แก่ทีม มะพร้าวหวาน C นักกีฬาดีเด่นคือ นายณัฐภัทร ไชยจักร จากทีมมะพร้าวหวาน+++ฟุตบอล 11 คน เทศบาลนครลำปาง ประจำปี 2552 (15 มีนา-3 พฤษภา 52) ทีมชนะเลิศ รุ่นอาุยุไม่เกิน 18 ปี ได้แก่ ทีมโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย นักกีฬาดีเด่นได้แก่ นายพงศกร ยาลังกา จากทีมโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย รุ่นประชาชนชายทั่วไป (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ได้แก่ ทีมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ นักกีฬาดีเด่นคือ นายสมชาย ติวะตันสกุล จากทีมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ รุ่นประชาชนชายทั่วไป ได้แก่ ทีมชมรมกีฬารถไฟนครลำปาง นักกีฬาดีเด่นได้แก่ นายอาุภาพ จรเทศ จาก ทีมชมรมกีฬารถไฟนครลำปาง Lampang Soccer

คุย+แลกเปลี่ยน+แจ้งข่าววงการฟุตบอลลำปางได้ที่นี่

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อ่าน บอ.บู๋ เทใจให้ไทยพรีเมียร์ลีก


บอ บู๋ คอลัมนิสต์ลีลาแพรวพราว แห่งสตาร์ซอคเกอร์

ทุ่งหญ้า มหาประลัย โดย บอ.บู๋ ตอน...บอลไทยกลับมาแล้ว ?
ที่มา หนังสือพิมพ์ สตาร์ ซอคเก้อร์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 หน้า 19
ที่มา (อีกที) จาก http://ballthai.exteen.com/20090410/entry-1


ฟุตบอลลีกแบบไทยๆ เปิดฉากแล้วนะครับ โดยฤดูการนี้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อใหม่อีกครั้งเป็น “ไทยพรีเมียร์ลีก” (ไม่ใช่ ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก หรือไทยลีก เหมือนก่อน)

โทษฐานที่เคยเป็นแฟนบอลไทย (ยุคคลาสสิก) แถว เคยมีบ้านอยู่แถวสนามศุภชลาศัย อดีตกองเชียร์ราชประชา และทหารอากาศ แบบสุดลิ่มทิ่มทะลุดากอย่างผมตั้งใจไว้ว่าฤดูกาลนี้จะติดตามชม ไทยพรีเมียร์ลีก ให้มากที่สุดชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่หมดยุครุ่งเรืองของ ฟุตบอลไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เหตุเพราะ...

1. มีความรู้สึก อย่างชัดเจนว่า “มันกลับมาแล้ว” คือ กระแสคลั่งไคล้ในบอลไทยกลับมาแล้ว หลังจากที่ถูกความน่าเบื่อลักพาตัวไปนาน เดี๋ยวนี้ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศไทย มีทั้งพัฒนาการคลองตัน และอาจเลยไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นรูปเป็นร่าง และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ

1.1 รูปแบบการแข่งขันในลีก ที่เพิ่มขึ้นเป็น 16 ทีม แข่ง แบบเหย้า-เยือน สนามใครสนามมัน (มา 2 ปีแล้ว) ไม่ใช่ตะบี้ตะบันแข่งกันสนามเดียวเหมือนแต่ก่อน

1.2 หลายทีมเริ่มฉลาดขึ้น เอ้ย! เริ่ม มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ หรือการนำเสนอ หลายสโมสรมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เคยมองข้ามมาตลอด อย่างตราสโมสร หรือเครื่องแบบที่ใช่ในการแข่งขัน (ไม่เชยระเบิดนาปาล์มเหมือนแต่ก่อน) เพราะผมว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มีส่วนในการดึงดูดกองเชียร์รุ่นใหม่ ซึ่งต้องขอบคุณสโมสร ชลบุรี เอฟซี ที่แสดงต้นแบบทางด้านนี้ให้ทีมอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง

1.3 แต่ละที่เริ่มมีกองเชียร์ที่เหนียวแน่นมากขึ้น โดยอาศัยวิธี “ท้องถิ่นนิยม” เฉพาะอย่างยิ่งทีมที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ย้ายตัวเองไปต่างจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น ราชนาวี ระยอง, ทีทีเอ็ม สมุทรสาคร, การ ไฟฟ้า-อยุธยา หรือ ทีโอที กาญจนบุรี เพื่อสร้างความผูกพันกับท้องถิ่นนั้นๆ ผิดกับเมื่อก่อนที่แต่ล่ะทีมเป็นสโมสรขององค์กร, ของธนาคาร หรือบริษัทต่างๆ ที่ไม่มีความผูกพันกับคนในพื้นที่

2. กองเชียร์ของแต่ละทีมชักเริ่มจะมี “สีสัน” อันฉูดฉาดน่าดึงดูดตา ดึงดูดใจ แถมยกตูดตัวเองให้เป็นอินเตอร์มากขึ้น แทนที่จะเชียร์แบบ “ฉิ่ง-ฉาบ-ทัวร์” เหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญคือมาเชียร์ด้วยใจ ไม่จัดอยู่ในประเภทเชียร์จัดตั้งที่ถูกเกณฑ์มานั่งกระทืบมือเป็นหุ่นยนต์โดนโปรแกรมไปวันๆ


เข้าใจแล้วครับว่า เราได้รับวัฒนธรรมการเชียร์แบบนี้ มาจากพวกฝรั่งอั้งม้อที่เห็นเป็นประจำทางทีวี แต่ถ้ามันช่วยฟุตบอลไทยให้มีสีสันมากขึ้น มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจอะไรนี่หว่า

3. ตัวผมอยากมีสโมสรในศึก ไทยพรีเมียร์ลีก เป็นทีมเชียร์ของตัวเองบ้าง เหมือนกับพวกสเกาเซอร์สเขามี ลิเวอร์พูล กับเอฟเวอร์ตัน เป็นทีมเชียร์ และเหมือนกับที่พวกแมนคูเนี่ยนเขามี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นทีมเชียร์ ส่วน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จัดเป็นความภาคภูมิใจของชาวอาบู ดาบี ไปแล้ว ฮ่าๆๆๆ

4. ยิ่งมีผู้ชมในสนามมากเท่าไหร่ นักฟุตบอลย่อมมีความกระหายในการฟาดแข้งมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผู้ชมมากขึ้นนักเตะก็บอลก็มีความกระตือรือร้นมากขึ้น เกมในสนามจึงทวีความตื่นเต้นสนุกสนาน และกระซวกแข้งกันอย่างถึงใจพระเดชพระคุณดีนักแล

5.การเดินทางไปดูฟุตบอลที่สนาม จัดเป็นการบันเทิงแขนงหนึ่ง ซึ้งได้ทั้งอารมณ์ และความรู้สึกมากกว่านอนกระตุกหำด้วยความเร็วปานกลาง พลางดูการถ่ายทอดสดผ่านจอทีวีอยู่ที่บ้าน หรือไปเดินเที่ยวตามห้างเป็นไหนๆ

...ว่าไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้นัดกับตัวเองที่สนาม ธันเดอร์โดม ของทีม “กิเลนผยอง”เมืองทองฯ ยูไนเต็ด เป็นประเดิม

เนื่องจากติดตามเชียร์ทีมนี้มาตั้งแต่สมัยอยู่ใน ดิวิชั่น1 เมื่อฤดูกาลที่แล้วจนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ผู้บริหารระดับสูงของทีม เขาเลยแต่งตั้งให้ผมเป็นพิธีกรประจำสนามเหย้าของทีมเมืองทองฯซะอย่างงั้น

บทบาทหน้าที่ก็ไม่มีอะไรมากกว่า การประกาศรายชื่อผู้เล่นของทั้ง 2 ทีมก่อนลงสนาม ชวนแฟนบอลเล่นเกมในช่วงพักครึ่ง รวมถึงกระตุ้นอารมณ์กองเชียร์ ให้เกิดอาการกำหนัดในลูกหนังอย่างรุนแรง ทั้งก่อน และหลังแข่ง (ยกเว้นระหว่างการแข่งขัน)โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากนายพิธีตามสนามต่างๆ ของอังกฤษที่เคยประสบมา

คือไม่ต้องเป็น “ทางการ” สัก เท่าไหร่ สามารถใส่ลูกเล่นในการประกาศรายชื่อนักเตะเจ้าบ้านได้ตามสะดวก หรือแอบอำคู่แข่งที่สนามอื่น หรือแอบข่มขวัญคู่ต่อสู้บ้าง เพื่อกระชากอารมณ์ร่วมจากกองเชียร์ในสนาม แทนที่จะทำทุกอย่างให้เป็น “ทางการ” ตามขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของฟุตบอลไทย ซึ่งผมว่ามันน่าเบื่อ

ผู้มาเยือนสนามบางท่านอาจไม่เข้าใจ หรืออาจคิดมากเกินเหตุ เนื่องจากยังมีมนุษย์บางเผ่าพันธุ์ในประเทศไทยเป็นโรคคิดมากเกินเหตุในทุกๆ เรื่องว่าแล้วก็จับนายพิธีโรคจิตอย่างผม ไปกระทืบในกระทู้ตามเว็บบอร์ดซะงั้น จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะเจตนาคืออยากสร้างบรรยกาศในบ้านตัวเอง ให้มีความสนุกสนามมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

หรือ พวกพี่ต้องการให้พิธีการสนาม นั่งพับเพียบบนหน้าเคร่งขรึม พ่นน้ำลายใส่ไมค์ด้วยนำเสียงที่เป็นทางการเหมือนในประกาศของคณะปฎิวัติ? ในส่วนของผู้ชมในสนาม ธันเดอร์โดม เมื่อวันอาทิตย์


บอกได้คำเดียวครับว่า...เพียบ! หมายถึงจำนวนผู้ชมบนอัฒจันทร์นะครับ ไม่ใช่เหล้าเบียร์

บ้าน ของทีมเมืองทองฯ มีชื่อว่าธันเดอร์โดมซึ่งวางอยู่ข้างๆ ธันเดอร์โดม ที่ใช้ในการจัดคอนเสิร์ตในระแวกเมืองทองนั่นแหละครับ โดยสังเวียนแข้งแห่งนี้มีอัฒจันทร์เพียงด้านเดียว พร้อมหลังคากันแดด และกันฝนเพิ่งปรับปรุงใหม่ให้ไฉไลยิ่งขึ้น

ความจุของอัฒจันทร์นาจะประมาณ 5,000 คน ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คะเนด้วยสายตาแล้วถือว่าทะลักจุแตกเลยทีเดียว

โดยเฉพาะกลุ่มกองเชียร์ประเภท “ฮาร์ดคอร์” ที่เรียกตัวเองว่า “อุลตร้าเมืองทอง” กว่าร้อยชีวิตที่ยกโขยงกันเข้ามาสร้างบรรยากาศในการเชียร์ฟุตบอล อันแตกต่างจากขนบธรรมเนียม และประเพณีในการเชียร์บอลไทยแบบเดิมๆ

คาดว่าน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเชียร์ฟุตบอลในประเทศ อิตาลี และสเปน บวกกับอิทธิพลที่ได้รับจาก “ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน” แน่ๆ เลย เพราะผมเห็นบางคนใช่หน้ากากอุลตร้าแมนเข้ามาเชียร์ซะอยางงั้น

คือที่อิตาลี และสเปนมีฝูงกองเชียร์ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มอุลตร้า” ซึ่งจัดเป็นกองเชียร์ประเภท “ฮาร์ดคอร์” ที่ นิยมเชียร์กันอย่างรุนแรง และกะซวกไส้กันจริงๆ (หมายถึงใช้มีดกะซวกไส้) โดยเฉพาะกลุ่มอุลตร้าของโรม่า และเรอัล มาดริด ที่ติดอันดับความดิบเถื่อน เพียงแต่กลุ่ม “อุลตร้าเมืองทอง” เขายืมแค่ชื่อมาเฉยๆ ครับไม่ได้ยืมความรุนแรงมาด้วยจึงเชียร์ด้วยความสุภาพปราศจากความหยามคาย ประเภทด่าพ่อล่อแม่ทีมคู่แข่ง

รูปแบบการเชียร์ของกล่มอุลตร้าเมืองทอง แทบจะถอดแบบกองเชียร์ในยุโรปมาเลยครับคุณ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบในการเชียร์ที่เหมือนกันทั้งหมด เพื่อแสดงพลังไม่ว่าจะเป็นการยืนเชียร์ พลางกระโดดโลดเต้นตามจังหวะแทนการนั่งอย่างเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการคำรามเชียร์ด้วยหลากหลายเพลง ที่พวกเข้าแต่งขึ้นเพื่อให้กำลังใจนักเตะของตัวเอง และข่มขวัญคู่ต่อสู้ แถมมีจุดพลุควันเวลากระทุ้งตาข่ายได้อีกต่างหาก

เหล่านี้แหละครับที่เรียกว่า “สีสัน” อีก ทั้งยังเป็นสีสันอันฉูดฉาดบาดตา ไม่ต่างจากกลุ่มกองเชียร์ฉลามชล หรือปลาทูคนอง กองเชียร์กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาปฎิวัติรูปแบบการเชียร์ให้หลุดออกนอกกรอบ

ผมว่าการเชียร์แบบนี้ถือเป็นการ “ต่อสายตรง” จากกองเชียร์ถึงผู้เล่นในสนาม คือสามารถส่ง “สาร”ที่ ต้องการจะฉีดใส่ผู้ในสนามโดยตรง ซ้ำยังมีอานุภาพมากกว่าการเชียร์แบบ ฉิ่ง ฉาบ ทัวร์ ประเภทงัดเอาเพลงจังหวะ 3ช่า มาร้องพลางตีกลองแล้วตีฉาบไปเรื่อยๆ

โดยไม่สนใจว่าสถานการณ์ในสนามเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กรูก็จะร้องแหกปากเพลง และดิ้นในจังหวะ 3 ช่าของกรูไปอย่างนั้น

ตกลงมึงมาดิ้นหรือมาเชียร์ผุ้เล่นในสนามเนี่ย?

คือมันเหมือนเพลงประกอบเกมลูกหนังมากกว่าการส่งกำลังใจนักเตะ

จากการสอบปากคำกองเชียร์คนหนึ่ง ทำให้ทราบว่า “อุลตร้าเมืองทอง” คือกลุ่มกองเชียร์ ที่สถาปนาตัวเองขึ้น จากแฟนบอลในละแวกนั้น (เมืองทอง, แจ้งวัฒนะ, หลักสี่, ปากเกร็ด และนนทบุรี) ที่อยากมีทีมรักเป็นของตัวเองในเมืองไทยให้ติดตามเชียร์ทุกสัปดาห์ เหมือนแฟนบอลเมืองนอกบ้าง

สำหรับทีม “กิเลนผยอง” เมืองทองฯ ยูไนเต็ด ถือ เป็นทีมน้องใหม่ที่ใช้เวลาเพียง 2 ฤดูกาล ตะกายจากดิวิชั่น 2 ขึ้นมาอยู่บนพรีเมียร์ได้สำเร็จ โดยบริหารทีมตามแบบฉบับ ของสโมสรฟุตบอลอาชีพจริงๆ แถมผมกล้าสาบานหนักแน่นว่าเจ้าของทีมระดับเจ้าสัวของทีมนี้ เป็นผู้ที่บ้าบอล และมีใจรักในเกมลูกหนังมากกว่า“เสี่ยหมี” โรมัน อบราโมวิช แห่ง สแตมฟอร์ด บริดจ์เสียอีก อิอิอิ

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าทำไม เมืองทองฯ ยูไนเต็ด จึงเป็นศูนย์รวมดาวดังทีมใหม่ของ ไทยพรีเมียร์ลีก ที่อุดมไปด้วยดาวดังระดับทีมชาติอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา, ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์, เจษฏา จิตสวัสดิ์, สุริยา ดอมไธสง, พิชิต พงษ์ เฉยฉิว หรือนายทวารดาวรุ่งมุ่งทีมชาติชุดใหญ่อย่าง กวิน ธรรมสัจจานันท์ รวมถึงดาวเตะต่างชาติที่นำเข้ามาจาก ไอวอรี่โคสต์ ล้วนๆ โดยเฉพาะผู้เล่นชื่อ ซูโมโฮโร่ ยาย่า ที่ลีลาเหลือรับประทาน จัดเป็นขวัญใจอันดับหนึ่งของกองเชียร์มาตั้งแต่เล่นดิวิชั่น 1

ฉะนั้นหากใครยังไม่มีทีมเชียร์ รีบหาทีมเชียร์เป็นของตัวเองซะนะครับ เพราะสิ่งที่ผมเพิ่งประสบที่ สนามธันเดอร์โดม นั้นมันช่างประทับใจ แถมแปลกใหม่จากที่เคยสัมผัสจริงๆ เราบ้าคลั่งกับฟุตบอลลีกของชาวบ้านนอกมามากแล้ว หากแบ่งเวลา และความบ้าคลั่งให้บอลลีกของตัวเองบ้าง น่าจะช่วยยกระดับของบอลไทย ให้มีชาติตระกูลมากยิ่งขึ้น

...ว่าแล้วขอยืนยันหนักแน่นว่าความสนุกสนาน ของบอลไทยเริ่มจะทยอยเดินทางกลับมาแล้วนะครับ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ นั่นแหละ ว่าจะช่วยกระชากมันให้กลับมาเร็วขึ้นหรือเปล่า?

บอ.บู๋
........................
เอามาฝาก เอามากระตุ้นกันนะครับ

สานฝันบอลลำปาง
อังคาร 23
มิถุนา 52

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น